3 อารมณ์ กับ 3 โหมดการท่องเที่ยว สามเหลี่ยมมรดกโลก บ้านเชียง – หลวงพระบาง – ฮาลองเบย์

หากใครกำลังมองหาแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตฉันเคยไปมาแล้ว
ก็ควรบรรจุเส้นทางการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมมรดกโลก บ้านเชียง – หลวงพระบาง – ฮาลองเบย์
แหล่งท่องเที่ยวอันมีเอกลักษณ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง ไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวของคุณด้วย
…ติดตามสถานที่อื่นๆได้ที่ https://www.facebook.com/WorldHeritagesTriangle

โครงการสามเหลี่ยมมรดกโลก เกิดจากความร่วมมือ ของจังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย, แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว
และ จังหวัดกวางนิงห์ ประเทศเวียดนาม ที่ต้องการแนะนำเส้นทางใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เปิดประสบการณ์
การท่องเที่ยวแบบออกเดินทางคราวเดียว ได้ถึงสามอารมณ์ สามโหมด

โหมดเรียนรู้อารยะธรรมเก่าแก่กว่า 5,000 ปี ที่ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

จะมีคนไทยสักกี่คนที่รู้ว่า สมบัติของชาติ 7 ชิ้นแรก อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
การมาเยือนบ้านเชียง จึงไม่ใช่แค่การมาเยือนแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นการมาเยือนแหล่งต้นกำเนิดอารยธรรม
ของมนุษย์ในแถบลุ่มน้ำโขง ที่ยังคงถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
เสมือนได้ย้อนเวลาไปหาอดีตเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว
เพื่อเรียนรู้แหล่งอารยธรรมโบราณที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการทำเกษตรกรรม การทำนาแบบนาน้ำท่วม
และร่องรอยของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้
จากทองสำริด และการทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่เห็นแล้วก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือ “เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง”

ส่วนคนที่เน้น กิน เที่ยว ช้อป เมื่อมา “บ้านเชียง” ก็ไม่ผิดหวังเช่นกัน เพราะที่นี่มีกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
กระจายตามแต่ละหมู่บ้านของตำบลบ้านเชียง ทั้งกลุ่มปั้นหมอเขียนสี, กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมครามบ้านเชียง – ส.หงษ์แดง,
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านดงเย็น หรือจะไปเลือกซื้อของหัตถกรรมฝีมือชาวบ้าน เช่น ผ้าทอ เครื่องจักสาน
เครื่องปั้นดินเผาลายบ้านเชียง เสื้อผ้าสำเร็จรูปย้อมคราม สินค้าเกษตร และผักผลไม้ปลอดสารพิษ
ที่ “ตลาดบ้านเชียง” ก็ยังได้ สุดท้ายอย่าลืมแวะไปชิมไวน์ และเลือกซื้อไวน์ท้องถิ่นได้ที่ “โฮมสเตย์ บ้านเชียง ไวน์เนอรี่”

นอกจากการเดินทางมาท่องเที่ยวแหล่งมรดกโลกบ้านเชียงแล้ว จังหวัดอุดรธานีก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย
ตามแคมเปญการท่องเที่ยวของจังหวัดที่ว่า “เมืองที่พร้อมเสิร์ฟความสุขทุกเมนู” คือมีแหล่งท่องเที่ยว
และสถานบริการที่พร้อมเสิร์ฟความสุขให้กับทุกเพศทุกวัยตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
การเดินทางมาจังหวัดอุดรธานี สามารถเดินทางมาได้ทั้งทางรถไฟ รถโดยสารประจำทาง และเครื่องบิน
โดยเฉพาะเครื่องบินที่บินมาลงที่จังหวัดอุดรธานี กว่าวันละ 60 เที่ยวบิน
โดยเริ่มทำการบินตั้งแต่ เวลา 05.55 จนถึง 21.35 กันเลยทีเดียว เอาละ ทั้งนี้ เราไปต่อกันที่หลวงพระบางกันเลย

โหมดสโลว์ ไลฟ์ ปรับชีวิตให้เนิบช้าที่หลวงพระบาง ประเทศลาว

“หลวงพระบาง” นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องของความเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีวิถีชีวิตอันงดงาม สงบ และเป็นกันเองกับนักท่องเที่ยว
การเดินทางจากอุดรธานีไปหลวงพระบางก็ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงนั่งรถโดยสารระหว่างประเทศ
ข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวที่ด่านพรมแดนหนองคาย มายังเวียงจันทน์ แล้วต่อรถโดยสารจากท่ารถตลาดเช้า
มายังหลวงพระบาง หรือ หากต้องการความสะดวกสบาย สามารถเลือกนั่งเครื่องบินจากสนามบินวัดไต
บินตรงไปลงที่หลวงพระบาง โดยใช้เวลาบินเพียง 40 นาที เท่านั้น

ด้วยความที่เป็นเมืองที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ ใครก็ตามที่มายัง “หลวงพระบาง” คงต้องทิ้งความวุ่นวาย
และความเร่งรีบเอาไว้เบื้องหลัง แล้วค่อย ๆ ซึมซับวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง ที่เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการ
ตักบาตรข้าวเหนียว จากนั้นลองปั่นจักรยานชมเมือง ก่อนจะแวะไปยังตลาดเช้า เพื่อดูวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น
ไปพร้อมกับเลือกซื้ออาหาร ผักสด ผลไม้ ของใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านนำมาขาย แล้วต่อด้วยการเติมพลังกับกาแฟร้อน ๆ
หรือโอวัลตินร้อน ๆ พร้อมปาท่องโก๋และไข่ลวก ร้านกาแฟประชานิยม ร้านกาแฟสไตล์บ้าน ๆ เจ้าอร่อย
ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความเป็นกันเองแบบสภากาแฟ และเป็นแหล่งพบปะพูดคุยอัพเดทข่าวสาร
ก่อนเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่

จากนั้นหากใครชอบชมความงามของสถาปัตยกรรมโบราณ ที่หลวงพระบางก็มีวัดวาอารามอันเก่าแก่
หลายแห่งให้เยี่ยมชม อย่าง วัดเชียงทอง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง
หรือหากใครอยากไปชื่นชมธรรมชาติ ก็มีน้ำตกตาดกวางสี ที่สวยงามราวกับอยู่ในแดนสวรรค์
และปิดท้ายด้วยการแวะซื้อของฝากที่ ไนท์ มาร์เก็ต แหล่งรวมงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านของชาวลาวนานาชนิด
ทั้งเครื่องเงิน ผ้าทอลายพื้นเมือง โคมไฟกระดาษสา ร่มกระดาษสา เสื้อยืดสกรีนภาษาลาว ภาพปัก สร้อยข้อมือ
และยังมีอาหารอร่อยให้เลือกชิมอีกมากมาย หลวงพระบางจึงเปรียบดังเมืองแห่งวิถีชีวิตอันเรียบง่าย
แต่ก็เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้กลับเยี่ยมเยือนอีกครั้ง

โหมดแอดเวนเจอร์ เจอทั้งธรรมชาติ และธีมพาร์คสุดอลังการ

จากหลวงพระบางข้ามมายังฮาลองเบย์ เวียดนาม สามารถเดินทางด้วยรถโดยสารระหว่างประเทศ หรือ นั่งเครื่องบิน
บินตรงไปลงสนามบินโหน่ยบ่าย เมืองฮานอย แล้วเดินทางต่อด้วยรถบัสไปยังอ่าวฮาลอง จังหวัดกวางนิงห์
ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ก็เป็นอีกเส้นทางที่ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางให้สั้นลง

ฮาลองเบย์ มีความหมายว่า “มังกรดำดิ่ง” ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันว่ามีมังกรดำดิ่งอาศัยอยู่ใต้ท้องทะเลแห่งนี้
ที่อ่าวฮาลอง นักท่องเที่ยวสามารถพายเรือคายัคเพื่อชมความงามของท้องทะเลและเกาะแก่งต่าง ๆ ได้อย่างใกล้ชิด
เพราะรอบ ๆ อ่าวฮาลอง มีเกาะหินปูนน้อยใหญ่รอบอ่าวกว่า 1,900 เกาะ และมีถ้ำหลายแห่งให้เข้าไปเยี่ยมชม
โดยถ้ำที่ห้ามพลาด คือ “Sung Sot Cave” หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า “Surprising Cave”
เป็นถ้ำที่มีหินปูนรูปทรงประหลาดอยู่มากมาย

จากนั้นหากใครชอบความตื่นตาตื่นใจ ก็ต้องไปที่สวนสนุก “Sun World Halong Complex”
ซึ่งมีเครื่องเล่นที่ถูกบันทึกไว้เป็นสถิติโลกในเรื่องของความสูง และความใหญ่อยู่ถึงสองอย่าง
คือ ชิงช้าสวรรค์ “Sun Wheel” ที่ตั้งอยู่บนภูเขา Ba Deo สูงจากระดับน้ำทะเล 250 เมตร
ทำให้ Sun Wheel เป็นหนึ่งในชิงช้าสวรรค์ชมวิวที่สูงที่สุดในโลก
ขึ้นไปแล้วสามารถมองเห็นวิวฮาลองเบย์ได้แบบ 360 องศาเลยทีเดียว

ถ้ายังตระการตากับวิวในมุมสูงไม่พอ ก็ยังมีกระเช้าลอยฟ้า 2 ชั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Queen Cable Car”
ให้ขึ้นไปนั่งชมวิวแบบเหมือนจะได้แตะขอบฟ้าและก้อนเมฆ เพราะ Queen Cable Car
ได้รับการบันทึกสถิติลงใน Guinness World Records ว่าเป็นกระเช้าที่จุคนได้มากที่สุดในโลก ถึง 250 คนต่อเที่ยว
และ 2,000 คนต่อชั่วโมง และยังเป็นกระเช้าที่มีเสาคอนกรีตส่งกระเช้าที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงถึง 188.88 เมตร
และ 123.45 เมตร ไปฮาลองเบย์ทั้งที ขอบอกว่าห้ามพลาดสองสิ่งนี้เด็ดขาด

จากฮาลองเบย์ จะเดินทางกลับไทยก็สามารถนั่งเครื่องบินมาลงสนามบินวัดไตข้ามแดน
กลับมาขึ้นเครื่องบินที่อุดรธานี หรือจะบินตรงมายังกรุงเทพเลยก็ได้เช่นกัน
แต่ถ้าใครอยากลุยกันต่อและเพลิดเพลินกับบรรยากาศสองข้างทาง สามารถนั่งรถบัสมาจากฮานอยมายังเวียงจันทน์
ข้ามต่อมายังอุดรธานี แล้วนั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพ ก็ย่อมได้

สามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fan Page : World Heritages Triangle

(ลิงค์ www.facebook.com/WorldHeritagesTriangle)